“คำฟ้อง” หมายความว่า การเสนอข้อหาต่อศาลไม่ว่าจะได้เสนอต่อศาลปกครองชั้นต้นหรือศาลปกครองสูงสุด ไม่ว่าจะได้เสนอในขณะที่เริ่มคดีโดยคำฟ้องหรือคำร้องขอ หรือเสนอในภายหลังโดยคำฟ้องเพิ่มเติมหรือแก้ไข หรือฟ้องแย้ง หรือโดยสอดเข้ามาในคดีไม่ว่าด้วยความสมัครใจหรือถูกบังคับ หรือโดยมีคำขอให้พิจารณาใหม่
จากความหมายดังกล่าว “คำฟ้องคดีปกครอง” จึงแบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ
- คำฟ้องที่เสนอขณะเริ่มคดี
- คำฟ้องเพิ่มเติมหรือแก้ไข
- คำฟ้องแย้ง
- คำร้องสอด
- คำขอให้พิจารณาคดีใหม่
รายละเอียดในคำฟ้องนั้น ตามมาตรา 45 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 บัญญัติว่า คำฟ้องให้ใช้ถ้อยคำสุภาพและต้องมี
- ชื่อและที่อยู่ของผู้ฟ้องคดี
- ชื่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง อันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี
- การกระทำทั้งหลายที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีพร้อมทั้งข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ตามสมควรเกี่ยวกับการกระทำดังกล่าว
- คำขอของผู้ฟ้องคดี
- ลายมือชื่อของผู้ฟ้องคดี
วิธีการยื่นคำฟ้องคดีปกครอง
การฟ้องคดีต่อศาลปกครองกฎหมายกำหนดให้ยื่นคำฟ้องได้ 2 วิธี คือ การยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลปกครอง โดยถือว่าวันที่ได้ยื่นคำฟ้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลปกครองเป็นวันที่ยื่นคำฟ้อง และการยื่นคำฟ้องโดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
- การยื่นคำฟ้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาล
ตามมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ประกอบประกาศประธานศาลปกครองสูงสุด เรื่อง วันเวลาทำการตามปกติของศาล ได้แก่ วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 8.30 น. ถึง 16.30 น. เว้นวันหยุดราชการ
- การยื่นคำฟ้องโดยส่งทางไปรษณีย์
ผู้ฟ้องคดีสามารถยื่นคำฟ้องโดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน โดยให้ถือว่าวันที่ส่งคำฟ้องแก่เจ้าพนักงานไปรษณีย์ เป็นวันที่ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครอง
แบบฟอร์มคำฟ้องคดีปกครอง
แบบคำฟ้อง .doc
แบบคำฟ้อง .pdf